วันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ประวัติรัชกาลที่3

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓)
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาล

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและเจ้าจอมมารดาเรียม  ซึ่งภายหลังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระศรีสุราลัย  พระบรมราชชนนีพันปีหลวงในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่  ๓๑  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๓๓๐  ณ  พระราชวังเดิม มีพระนามเดิมว่า  หม่อมเจ้าชายทับ
            เมื่อปี พ.ศ.  ๒๓๔๙  สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น พระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล จึงได้รับเลื่อนพระยศตามพระบิดาขึ้นเป็นพระองค์เจ้า  ต่อมาเมื่อพระชนมายุครบผนวชตามพระราชประเพณี  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระอัยยิกาธิราชจึงโปรดเกล้าฯ จัดพิธีผนวชให้ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จออกในพิธีผนวชครั้งนี้ด้วยแม้จะมีพระชนมายุถึง ๗๒ พรรษาแล้วก็ตาม เมื่อทรงผนวชแล้วพระองค์ก็เสด็จไปจำพรรษา  ณ วัดราชสิทธาราม
            ต่อมาในปี  พ.ศ. ๒๓๕๖ ขณะพระชนมายุได้ ๒๖ พรรษาสมเด็จพระบรมชนกนาถทรงสถาปนาขึ้นดำรงพระยศเจ้าต่างกรม มีพระนามกรมว่า พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ด้วยมีพระปรีชาสามารถในหลายแขนงวิชา ไม่ว่าจะเป็นด้านพระพุทธศาสนา อักษรศาสตร์  รัฐประศาสนศาสตร์ นิติศาสตร์ สถาปัตยกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านพาณิชยศาสตร์และเศรษฐศาสตร์  ทำให้เป็นที่วางพระราชหฤทัยจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ ให้กำกับราชการโดยดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในกรมต่างๆ เช่น กรมท่ากรมพระคลังมหาสมบัติ กรมตำรวจ และยังทรงทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีความแทนพระองค์อยู่เสมอ จึงทำให้ทรงรอบรู้งานราชการต่างๆ ของแผ่นดินเป็นอย่างดี
            จนกระทั่งวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๖๗  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคตโดยมิได้ทรงมอบพระราชสมบัติให้แก่พระราชโอรสพระองค์ใด เจ้านายและขุนนางชั้นผู้ใหญ่จึงประชุมหารือแล้วลงมติกันว่า ควรถวายพระราชสมบัติให้แก่พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ สืบราชสมบัติแทนเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่  ๓  แห่งราชวงศ์จักรีพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยทรงมีความรู้ความชำนาญทางด้านการปกครองเป็นอย่างดี เนื่องด้วยสนองพระเดชพระคุณในรัชกาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาเป็นเวลานาน
            พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มิได้ทรงสถาปนาผู้ใดขึ้นเป็นพระบรมราชินี คงมีแต่เพียงเจ้าจอมมารดาและสนมเอกเท่านั้น และมีพระราชโอรสกับพระราชธิดารวมทั้งสิ้น  ๕๑  พระองค์

พระราชกรณียกิจ
พระราชกรณียกิจด้านเศรษฐกิจ
            ในขณะที่  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ  เป็นเวลาที่ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะยากจนเป็นอย่างมาก  เนื่องจากเมื่อครั้งสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลเพื่อทำนุบำรุงบ้านเมืองขึ้นมาใหม่  ประกอบกับการที่กรุงศรีอยุธยาสูญเสียทรัพย์สินจากการพ่ายแพ้สงคราม  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงตั้งระบบการจัดเก็บภาษีขึ้นหลายอย่างเพื่อหาเงินเข้าท้องพระคลังหลวง เช่น จังกอบ  อากร ฤชา ส่วย ภาษีเงินค่าราชการจากไพร่ เงินค่าผูกปี้ข้อมือจีน เป็นต้น
            การเก็บภาษีอากรนี้ทรงตั้งระบบการเก็บภาษีโดยให้เอกชนประมูลรับเหมาผูกขาดไปเรียกเก็บภาษีจากราษฎรเอง เรียกว่า เจ้าภาษีหรือนายอากร ซึ่งส่วนใหญ่ชาวจีนจะเป็นผู้ประมูลได้ การเก็บภาษีด้วยวิธีนี้ทำให้เกิดผลดีหลายประการ กล่าวคือนอกจากจะสามารถเก็บเงินเข้าพระคลังได้สูงแล้วยังส่งผลดีด้านการเมือง คือทำให้ชาวจีนที่เป็นเจ้าภาษีนายอากรนั้น มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และมีความผูกพันกับแผ่นดินไทยมากขึ้น
            นอกจากนี้รายได้ของรัฐอีกส่วนหนึ่งยังได้มาจากการค้าขายกับชาวต่างชาติ  โดยไทยได้ส่งเรือสินค้าเข้าไปค้าขายในประเทศต่างๆ มากมาย เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยและเชี่ยวชาญการส่งเรือสินค้าออกไปค้าขายมาตั้งแต่ครั้งดำรงยศเป็นพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ จนสมเด็จพระบรมชนกนาถตรัสเรียกพระองค์ว่า “เจ้าสัว”  และเมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติก็ได้ทรงสนับสนุนการค้ากับต่างประเทศมากขึ้น โดยโปรดเกล้าฯ ให้ต่อเรือกำปั่นเพื่อใช้ในการค้าจำนวนมาก รายได้จากการค้าสำเภานี้นับเป็นรายได้สำคัญของประเทศในขณะนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการทำสนธิสัญญาเบอร์นี้ที่ไทยอนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้ามาค้าขายภายในประเทศอย่างเสรี ยกเว้นสินค้าประเภทข้าว อาวุธปืน และฝิ่น
            เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศมีเสถียรภาพมั่นคงและรัฐมีรายได้มากขึ้น  รายได้ของแผ่นดินในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้จึงสูงขึ้นมาก โดยบางปีมีจำนวนมากถึง ๒๕ ล้านบาททีเดียว เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต  เงินในท้องพระคลังหลวงซึ่งรวมถึงเงินค่าสำเภาที่เหลือจากการจับจ่ายของแผ่นดินมี  ๔๐,๐๐๐  ชั่ง และด้วยความที่พระองค์มีพระราชหฤทัยห่วงใยในด้านการสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่างๆ ก่อนที่จะเสด็จสวรรคต จึงทรงมีพระราชปรารภให้แบ่งเงินส่วนนี้ไปทำนุบำรุงรักษาวัดที่ชำรุดเสียหาย และวัดที่สร้างค้างอยู่ ๑๐,๐๐๐ ชั่ง ส่วนที่เหลืออีก ๓๐,๐๐๐ ชั่ง ทรงโปรดเกล้าฯ ให้รักษาไว้เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับแผ่นดินต่อไป
            เงินจำนวนนี้ กล่าวกันว่าพระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ใส่ถุงแดงเอาไว้ ซึ่งต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำมาใช้จ่ายเป็นค่าปรับในกรณีพิพาทระหว่างประเทศ ร.ศ. ๑๑๒(พ.ศ.๒๔๓๖) จะเห็นได้ว่าแม้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จสวรรคตไปแล้ว พระองค์ก็ยังทรงมีส่วนช่วยเหลือประเทศให้รอดพ้นวิกฤตการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศที่เกิดขึ้น ด้วยเงินถุงแดงที่พระองค์ทรงเก็บสะสมไว้
กลองวินิจฉัยเภรี
พระราชกรณียกิจด้านการปกครอง
            พระราชกรณียกิจด้านการปกครองที่สำคัญของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้นำกลองใบใหญ่ที่เจ้าพระยาพระคลังนำมาถวายไปตั้งไว้ที่ทิมดาบ กรมวังลั่นกุญแจ พระราชทานนามว่า  “วินิจฉัยเภรี” สำหรับให้ประชาชนที่ต้องการร้องทุกข์ถวายฎีกามาตี แล้วกรมวังก็จะไขกุญแจให้ เมื่อตีกลองแล้วตำรวจเวรก็จะรับตัวมาสอบถามเรื่องราวแล้วนำความขึ้นกราบบังคมทูล จากนั้นจึงมอบหมายให้ขุนนางคอยดูแลชำระความ และคอยสอบถามอยู่เสมอมิให้ขาด ทำให้ขุนนางไม่อาจหลีกเลี่ยงต่อหน้าที่ได้ ประชาชนจึงได้รับผลประโยชน์เป็นอย่างมาก

พระราชกรณียกิจด้านการป้องกันประเทศ
            ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสงครามระหว่างไทยกับพม่าได้เบาบางและสิ้นสุดลง  เพราะพม่าติดพันการทำสงครามอยู่กับอังกฤษ แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีสงครามเกิดขึ้นหลายครั้งในหลายรัชกาลนี้ โดยสงครามที่สำคัญได้แก่
            ๑.  พ.ศ. ๒๓๑๖ สงครามกับเจ้าอนุวงศ์ แห่งเมืองเวียงจันทน์ เดิมทีเมืองเวียงจันทน์ตกเป็นเมืองขึ้นของไทยตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี แต่ในขณะนั้นเจ้าอนุวงศ์เริ่มมีอำนาจมากขึ้น จึงถือโอกาสช่วงเปลี่ยนแผ่นดิน ก่อกบฏยกกองทัพเข้ามาตีไทยเพื่อประกาศตนเป็นอิสระทว่าถูกกองทัพของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวขับไล่ออกไปได้หมดสิ้น ดินแดนแคว้นลาวจึงยังคงอยู่ในอำนาจของไทยต่อไปจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
            ๒.  พ.ศ. ๒๓๗๖ – พ.ศ. ๒๓๙๐ สงครามกับญวน สงครามครั้งนี้กินเวลายาวนานถึง ๑๕ ปี เริ่มจากปี พ.ศ. ๒๓๗๖ ญวนที่เมืองไซง่อนก่อกบฏขึ้น พระเจ้าเวียดนามมินมาง จึงต้องทำสงครามปราบปรามกบฏ  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่าเป็นโอกาสที่จะแย่งชิงเขมรกลับคืน และปราบญวนให้หายกำเริบ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาเป็นแม่ทัพยกไปตีเมืองเขมร หัวเมืองญวนไปจนถึงไซ่ง่อน และโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ยกทัพเรือไปตีหัวเมืองเขมรและญวนตามชายฝั่งทะเล สงครามยืดเยื้อมาเป็นเวลานานจนเป็นอันเลิกรบ แต่ไทยก็ได้เขมรมาอยู่ในปกครองอีกครั้ง

พระราชกรณียกิจด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศ
            เหตุการณ์ความสัมพันธ์กับต่างประเทศในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวที่สำคัญมีดังนี้
            ๑.  สัมพันธไมตรีกับอังกฤษ ในวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๓๖๙ ไทยได้ทำสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและพาณิชย์กับอังกฤษ ชื่อว่า สนธิสัญญาเบอร์นี เนื่องจากมีนายเฮนรี่ เบอร์นี เป็นผู้ทำการเจรจากับรัฐบาลไทยเกี่ยวกับปัญหาการค้าและการเมืองในมลายู ใช้ระยะเวลา  ๕  เดือน  ประกอบด้วยสนธิสัญญาทางพระราชไมตรี  ๑๔  ข้อ  และสนธิสัญญาทางการพาณิชย์แยกอีกฉบับรวม  ๖  ข้อ  สนธิสัญญาเบอร์นี  ถือเป็นสนธิสัญญาฉบับแรกที่ไทยทำกับประเทศตะวันตกในสมัยรัตนโกสินทร์
            ๒.  สัมพันธไมตรีกับสหรัฐอเมริกา ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ เริ่มจากการทำการค้าและมีการทำสนธิสัญญาระหว่างกัน โดยลงนามเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๗๕ มีนายเอ็ดมันส์ โรเบิร์ต เป็นทูตเจรจาใช้ระยะเวลาในการเจรจา  ๒๒ วัน โดยมีข้อตกลงทางการเมืองและการค้าอยู่ในฉบับเดียวกัน ๑๐ ข้อ สำหรับบรรดาประเทศต่างๆ ในเอเชียนั้น ประเทศจีนนับเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีกับไทย ทั้งทางด้านการทูตและการค้า  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไทยได้จัดส่งราชทูตอัญเชิญพระราชสาสน์และเครื่องราชบรรณาการไปเจริญพระราชไมตรีกับประเทศจีนใน พ.ศ. ๒๓๖๘ การค้าระหว่างไทยกับจีนดำเนินไปได้ด้วยดีตลอดสมัยรัชกาลที่  ๓
ฤษีดัดตน
พระราชกรณียกิจด้านการศึกษาวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
            ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นยังไม่มีการจัดตั้งโรงเรียนขึ้น ดังนั้นวัดจึงมีบทบาทเป็นสถาบันทางการศึกษาที่สำคัญมาก เช่นเดียวกับสมัยกรุงศรีอยุธยาที่มีพระสงฆ์เป็นครูสอนหนังสือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสนับสนุนการศึกษาโดยโปรดเกล้าฯ ให้ผู้มีความรู้นำตำราต่างๆ จารึกลงบนศิลาประดับไว้ตามฝาผนังอาคารต่างๆ ของวัดราชโอรสาราม วัดสุทัศนเทพวราราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม  ความรู้ต่างๆ ที่โปรดเกล้าฯ ให้จารึกไว้มีทั้งวิชาอักษรศาสตร์ แพทยศาสตร์ พุทธศาสตร์และโบราณคดี ตำราโคลง  ฉันท์ กาพย์ กลอน ตำรายา ตำราโหรศาสตร์ พร้อมกันนั้นก็โปรดเกล้าฯ ให้ปั้นรูปฤาษีดัดตน แสดงท่าบำบัดโรคลม  กับคำโคลงบอกชนิดของลม ตั้งไว้ในศาลารอบเขตพุทธาวาส เพื่อให้ประชาชนศึกษาความรู้ต่างๆ ได้อย่างแพร่หลาย จนอาจเรียกได้ว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของเมืองไทย

            พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน องค์ข้างตะวันตกในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๒ เมษายน  พ.ศ. ๒๓๙๔ รวมพระชนมายุได้ ๖๓ พรรษา ๒ วัน รวมระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติ  ๒๖ ปี ๘ เดือน ๑๒ วัน  พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถในศาสตร์ต่างๆ หลายแขนง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้าน พาณิชยศาสตร์และเศรษฐศาสตร์  เนื่องจากเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ที่ทรงพระปรีชาสามารถ ฉลาดหลักแหลมพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงโปรดเกล้าฯ ให้เข้ารับราชการต่างพระเนตรพระกรรณมาตั้งแต่ยังทรงดำรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกเธอ  กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ครั้นเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติพระองค์ก็ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจด้านต่างๆ นำความมั่นคงก้าวหน้ามาสู่ประเทศนานัปการ และด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณปวงชนชาวไทยจึงร่วมใจกันสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ขึ้นในบริเวณลานเจษฎาบดินทร์  ถนนราชดำเนิน

เกร็ดความรู้
บุคคลสำคัญในสมัย  ร. ๓
ท้าวสุรนารีe0b897e0b989e0b8b2e0b8a7e0b8aae0b8b8e0b8a3e0b899e0b8b2e0b8a3e0b8b501

            ท้าวสุรนารี มีนามเดิมว่า “คุณหญิงโม” เป็นภริยาปลัดเมืองนครราชสีมา ท่านสร้างวีรกรรมไว้แก่ชาติไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๙ โดยได้รวบรวมชาวบ้านเข้าสู้รบต่อต้านกองทัพของเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ไม่ให้มาตีกรุงเทพฯ เป็นผลสำเร็จ  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ  แต่ตั้งคุณหญิงโมเป็น “ท้าวสุรนารี”  มีการจัดงานเฉลิมฉลองวันแห่งชัยชนะของท้าวสุรนารีระหว่าง วันที่ ๒๓ มีนาคม ถึงวันที่ ๓ เมษายนของทุกปี
            อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) อยู่ในอำเภอเมือง จ.นครราชสีมา สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๖ ตั้งอยู่หน้าซุ้มประตูชุมพล ซึ่งเป็นประตูเมืองเก่าทางด้านทิศตะวันตก อนุสาวรีย์เป็นรูปท้าวสุรนารี แต่งกายด้วยเครื่องยศพระราชทาน  มือขวากุมดาบ หล่อด้วยทองแดงรมดำสูง ๑.๘๕ เมตร ที่ฐานอนุสาวรีย์มีอัฐิของท่านบรรจุไว้ภายใน

เกร็ดความรู้
หมอบรัดเลย์หมอบลัดเลย์
            หมอบรัดเลย์ หรือแดน บีช แบรดลีย์ (Danial Beach Bradley, M.D.) หรือบางคนเรียก ปลัดเลย์ เป็นนายแพทย์ชาวอเมริกันที่เข้าเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในประเทศไทยสมัยรัชกาลที่ ๓ และยังเป็นผู้เริ่มต้นการพิมพ์ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก
ประวัติ
            แดน บีช บรัดเลย์ เป็นชาวเมืองมาร์เซลลัส (Marcellus) เกิดเมื่อ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๔๗ บุตรคนที่ ๕ ของนายแดน บรัดเลย์ และนางยูนิช บีช บรัดเลย์ สำเร็จการแพทย์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก สมรสกับภรรยาคนแรก เอมิลี รอยส์ บรัดเลย์ และภรรยาคนที่สอง ซาราห์ แบลคลี บรัดเลย์ แดน บีช บรัดเลย์ เข้ามาทำงานในคณะหมอสอนศาสนา เพรส ไบทีเรียน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๓๗๙ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ พักอาศัยอยู่แถววัดเกาะ สำเพ็ง (วัดสัมพันธวงศ์) ต่อมาจึงย้ายไปอยู่แถวกุฎีจีน และย้ายไปอยู่แถววัดประยูรวงศาวาส เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๕ จึงมาเช่าที่หลวง ตั้งโรงพิมพ์อยู่บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ ข้างป้อมวิชัยประสิทธิ์ ติดกับพระราชวังเดิม พักอาศัยอยู่ที่นั่นจนเสียชีวิตเมื่อวันที่  ๒๓  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๔๑๖  อายุ  ๖๙  ปี
ผลงาน
            –  ทำการผ่าตัดแผนใหม่เป็นรายแรกของประเทศไทย
            –  ปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษสำเร็จเป็นรายแรกของประเทศไทย    
            –  ตั้งโรงพิมพ์และตีพิมพ์ประกาศห้ามสูบฝิ่นซึ่งเป็นประกาศทางราชการที่ใช้วิธีตีพิมพ์เป็นครั้งแรก
            –  ริเริ่มนิตยสาร บางกอก รีคอร์ดเดอร์ (The Bangkok Recorder)
            –  พิมพ์ปฏิทินสุริยคติเป็นภาษาไทยขึ้นเป็นครั้งแรก
            –  พิมพ์หนังสือคัมภีร์ครรภ์ทรักษา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น